TCEB หนุนหลัง EEC นำพาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0

editor image

[เปิดประตูอาเซียนสู่ภาคธุรกิจไมซ์]

เป็นที่ทราบกันดี EEC หรือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและเมืองทางภาคตะวันออก เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเริ่มจาก 3 จังหวัดพื้นที่พิเศษได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราซึ่งเป็นเมืองท่าเชื่อมต่อกับประเทศมหาอำนาจทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสาธารณูปโภคและโลจิสติกส์พื้นฐานที่เหมาะสมต่อการพัฒนาสู่ตลาดระหว่างประเทศ เปรียบเสมือนประตูของเอเชีย ที่รอต้อนรับนักเดินทางมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ก่อให้เกิด GDP เป็นสัดส่วนกว่า 32 เปอร์เซ็นต์หรือ 1 ใน 3 ของสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก นับได้ว่าเป็นการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอาเซียน


สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เข้ามามีบทบาทสำคัญจากการส่งเสริมนักลงทุนและนักธุรกิจมายังพื้นที่ ผ่านเวทีการประชุม สัมมนา การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล งานแสดงสินค้า รวมถึงงานเมกะอีเวนต์ต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยนับว่าเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ในเอเซีย ที่หวังสร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนด้วยนวัตกรรม จึงเห็นได้ว่าทั้งโครงการ EEC และธุรกิจไมซ์ต่างมีจุดมุ่งหมายการเดินทางเดียวกัน


[ เปลี่ยนจากแนวรับเป็นแนวรุก ]

หากต้องการนำเศรษฐกิจไทยลงสนามแข่งสากล ประเทศไทยต้องวางแผนการรับมือให้มั่นคงมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในยุคที่ Disruption ส่งผลให้จังหวะการดำเนินงานสะดุดได้โดยง่ายหากไร้แผนรับมือ ธุรกิจไทยจึงควรเปลี่ยนจากโครงสร้างเชิงรับเป็นเชิงรุก ลดการพึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินต่อได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทั้ง EEC และอุตสาหกรรมไมซ์ต่างร่วมผลักดัน โดยกระตุ้นการเจรจาธุรกิจและการลงทุนของภาคเอกชน ผ่านการสร้างนิคมอุตสาหกรรม โรงงานใหม่ และเครื่องจักรอุปกรณ์ผ่านการนำเข้าและซื้อขายเพื่อขยายกำลังการผลิต กระตุ้นเม็ดเงินให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและเพิ่ม GDP (Gross Domestic Product) ของประเทศตามลำดับ 


การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีนวัตกรรมสูงขึ้น จึงเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อเร่งขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดโลก เนื่องจากการเปิดตลาดอาเซียนทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดคู่ค้าเดียวกันมากขึ้น ดังนั้น การเข้ามาของ EEC จึงเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันในระยะยาวต่อไปได้ โดยมีธุรกิจไมซ์เป็นตัวเร่งในการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เพิ่มมูลค่าให้ประเทศปีละไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท ดึงดูดนักเดินทางไมซ์จากกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาใน 10 แหล่งอุตสาหกรรม ตามการแบ่งกลุ่มเป้าหมายของ EEC ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curves) และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curves) ดังนี้ 

editor image

5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ

  • อุตสาหกรรมยานยนตร์สมัยใหม่
  • อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์อัจฉริยะ
  • อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
  • อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
  • อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร

5 อุตสาหกรรมอนาคต

  • หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม
  • อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
  • อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
  • อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
  • อุตสาหกรรมดิจิทัล


เห็นได้ว่าการเข้ามาของอุตสาหกรรมใหม่ คือ การยกระดับจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการผลิต (Manufacturing and Asset Based Industry) สู่โครงสร้างเศรษฐกิจการผลิตสมัยใหม่ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มโดยยึดหลักพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ (Knowledge Based Industry) โดยการรวมระหว่างอุตสาหกรรมยานยนตร์สมัยใหม่และอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพกับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร สู่หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพตามลำดับ รวมทั้งขยายฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ย่อยออกเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ทำให้ 5 อุตสาหกรรมใหม่ครอบคลุมและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างรอบด้าน

editor image


[เท่าเทียมและยั่งยืน]

เท่าเทียม และ ยั่งยืน (Equity & Sustainability) คือ หัวใจหลักของการดำเนินงาน ทั้ง EEC และธุรกิจไมซ์ต่างมีเป้าหมายเพื่อสร้างและกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม จุดมุ่งหมายเดียวกันนี้เองถูกขับเคลื่อนผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาให้เท่าทันผ่านนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีแรงสนับสนุนจากทีเส็บคอยสะท้อน ประกาศ และเปิดพื้นที่แสดงความตั้งใจของชุมชนสู่สากล ผ่านการจัดงานประชุม สัมมนา การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และงานแสดงสินค้า รวมถึงงานเมกะอีเวนต์ต่าง ๆ อาทิ


  • ธุรกิจไมซ์ในประเภทหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

            ตอกย้ำจุดเริ่มต้นความสำเร็จในหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง เพราะประเทศไทยถือเป็นสถานที่รับรองงานมหกรรมสุดยิ่งใหญ่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงท้ายปี กับงาน “Automation Expo 2022” พัทยา ชลบุรี ภาพสะท้อนความตั้งใจในการผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะแวดวงยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยทีเส็บร่วมมือกับ บริษัท กรีนเวิลด์ พับลิเคชั่น จำกัด จัดแสดงเทคโนโลยีและโซลูชั่นระบบอัตโนมัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก และอีกหนึ่งงานมหกรรม “Manufacturing Transformation Thailand” (MATRA) พัทยา ชลบุรี ที่มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 29-30 กันยายน 2565 คาดหวังผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยให้ก้าวไกลและเติบโตในอนาคต


  • ธุรกิจไมซ์ในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์

            ทีเส็บเตรียมสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินและโครงสร้างพื้นฐานใน EEC ผ่านการจัดงาน “Thailand International Air Show” ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ระยอง ซึ่งกำหนดจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2570 และจะจัดขึ้นต่อจากนี้ในทุก 2 ปี เพื่อฟื้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยทีเส็บมีบทบาทด้านการส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังประชาสัมพันธ์ให้ผู้ร่วมแสดงสินค้าและผู้ร่วมงานเข้าร่วมภายในงานอีกด้วย โดยทีเส็บได้เตรียมแผนงานสร้างความพร้อมผู้ประกอบการในพื้นที่ก่อนการจัดงานผ่านโครงการ “Road to Air Show” ภายใต้งาน “Aviation & LOG-IN Week” ซึ่งจะเป็นการรวบรวมงานแสดงสินค้า การประชุม และงานเมกะอีเว้นต์ ด้านอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์มาไว้ในพี้นที่เดียวกัน และในเวลาใกล้เคียงกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมยกระดับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ของไทยภายในพื้นที่ EEC แบบทวีคูณ


  • ธุรกิจไมซ์ในอุตสาหกรรมดิจิทัล

            “Maintenance, Industrial Robotics and Automation” (MIRA) พัทยา ชลบุรี ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2565 นี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัลและศูนย์กลางเมืองอัจฉริยะในอาเซียน โดย MIRA นั้นจัดแสดงเป็นครั้งแรก โดยเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการซ่อมบำรุง ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และโซลูชั่นสำหรับภาคอุตสาหกรรมระดับแนวหน้าของเมืองไทย เป็นพื้นที่ให้ผู้จัดจำหน่ายสัญชาติไทยได้แสดงศักยภาพและขยายเครือข่ายลูกค้าในประเทศ


การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจนมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและชักจูงการลงทุนจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้ามายังประเทศไทย เพิ่มการแข่งขันด้านการลงทุน FDI (Foreign Direct Investment) กับคู่แข่งในระยะยาวต่อไปได้ จึงเป็นเหตุผลที่ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญต่อนโยบายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ


เห็นได้ว่าบทบาทของทีเส็บในเขต EEC เข้ามาเพื่อเกื้อหนุนและผลักดันให้เศรษฐกิจในเขตภาคตะวันออกเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง พร้อมเปิดพื้นที่ สร้างความร่วมมือพันธมิตรในการจัดหาและเตรียมพร้อมผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจให้เชื่อมต่อกันในทุกภาคส่วน โดยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ EEC ยึดหลักภายใต้ 4 กลยุทธ์ ประสานความร่วมมือ 3Cs - Cooperation, Connection, Community Based, กลยุทธ์ชูจุดขายให้เกิดการจัดงานตามอัตลักษณ์ของเมือง, กลยุทธ์การตลาด สร้างมาตรฐานสถานที่ ศูนย์ประชุมให้พร้อมรองรับทุกเวลา และกลยุทธ์ในการพัฒนาผู้ประกอบการ สถานประกอบการ และห่วงโซ่อุปทานในพื้นที่ให้คงมาตรฐานอย่างแข็งแกร่ง


[สิทธิประโยชน์จากการร่วมมือระหว่างธุรกิจไมซ์และ EEC]

  1. ระบบ One-stop Service นำเสนอข้อมูลข่าวสารการขออนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการการค้าการส่งออกนำเข้าในจุดเดียว โดยมีทีเส็บเป็นช่องทางในการกระจายข้อมูลข่าวสาร และอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนและนักเดินทางไมซ์
  2. นักลงทุนไมซ์ได้ประโยชน์จากการยกเว้นอากรขาเข้า เครื่องจักร และวัตถุดิบที่นำเข้ามาใช้ผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงวัตถุดิบหรืออุปกรณ์ที่นำเข้าเพื่อการวิจัยและพัฒนา
  3. สำหรับนักเดินทางไมซ์ที่มองหาการสนับสนุน EEC ให้วีซ่าทำงาน 5 ปี และมอบเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัย และพัฒนาการส่งเสริมนวัตกรรม หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน ของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก
  4. นักเดินทางไมซ์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือนักวิจัยมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน คิดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ซึ่งต่ำที่สุดในอาเซียน

ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดของอุตสาหกรรมไมซ์และโครงการ EEC คือ การเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทันสมัยและก้าวไกลที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ความร่วมมือของ 2 ภาคส่วนธุรกิจถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งเสริมให้ไทยสามารถก้าวไปสู่โมเดล Thailand 4.0 โดยสมบูรณ์ และยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เป็นประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2575 ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ


อ้างอิง:

https://www.tfd-factory.com/th/privilege/eastern-economic-corridor-eec

http://eec.vec.go.th/th-th/เกี่ยวกับ-EEC/10-อุตสาหกรรมเป้าหมาย

https://www.wha-industrialestate.com/th/why-thailand/eastern-economic-corridor-eec

แชร์บทความ