เลือกประเทศไทย

(MAR23) ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย

editor image

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการวางโครงสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ วางกลยุทธ์ทำความร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ร่วมพัฒนาเมืองไมซ์ซิตี้ 10 แห่งประจำทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมจัดตั้งสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการประจำภูมิภาค 4 ภาค ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในภูมิภาค สนับสนุนการจัดงานและผู้จัดงานไมซ์ในแต่ละภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง พร้อมเดินหน้าลงทำงานเชิงรุกกระจายในพื้นที่ ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน หวังวางรากฐานไมซ์ไทยเพื่อก้าวขยายสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของเอเชีย โดยร่วมกับจังหวัด สมาคม หน่วยงาน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด  เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมปลดล็อคธุรกิจไมซ์ในสูตร “ฟื้นฟู สนับสนุน ส่งเสริม”  ชูเรื่องความปลอดภัยในการดันไมซ์ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ชิงความได้เปรียบในทุกด้านเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ที่วันนี้ประเทศไทยมีศักยภาพความพร้อมสูงสุดในทุกด้าน

1. พื้นที่ยุทธศาสตร์ (Strategic Location)

ประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย และมีเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างประเทศ มีการถ่ายเทสินค้า บริการ ฝีมือแรงงาน และการค้าการลงทุนระหว่างกัน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียนและเอเซีย และเป็นประเทศฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลักของโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และไอที เป็นต้น

  •   การส่งออก 

ตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคม 2566 มีมูลค่า 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน สำหรับกิจกรรมในภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว ด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยภาพรวมการส่งออกของไทยยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศในเอเชีย โดยตลาดส่งออกของไทยหลายตลาดกลับมาขยายตัว ได้แก่ สหภาพยุโรป ลาตินอเมริกา อินเดีย แอฟริกา และอาเซียน ท่ามกลางผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของค่าเงินบาท ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สหรัฐอเมริกา เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นตามมุมมองที่ดีของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย จากการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด

editor image

  เครดิตภาพ : ธนาคารแห่งประเทศไทย 

  •   การลงทุนในประเทศไทย

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนมกราคม 2566 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 52 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 22 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 30 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,129 ล้านบาท โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ การสร้างแบบจำลองแบบ 3 มิติ และการทำงานของแดมเปอร์เฉพาะทางบนคอมพิวเตอร์ องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบการให้บริการรายการโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น  ทั้งนี้ คาดว่าตลอดปี 2566 จะมีนักลงทุนชาวต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การลงทุนเพื่อขยายตลาด และการปรับโครงสร้างการผลิตในประเทศ

  •   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ระยะ 5 ปี 2566-2570

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 2 ที่แปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี ข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2566-2570 แผนระดับชาติที่รัฐบาลยึดเป็นกรอบการผลักดันการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี ข้างหน้า  มีเป้าหมายหลัก 5 ประการ ได้แก่  

 1) ปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม 

 2) พัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ 

 3) มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม 

 4) เปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน 

 5) เสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่

แผนฯฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่การเป็นเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม คำนึงถึงการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน และยกระดับความคุ้มครองทางสังคมแก่คนทุกช่วงวัย เป็นการต่อยอดจากต้นทุนเดิมที่ประเทศไทยมีอยู่ เพื่อมุ่งให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกยุคใหม่ที่ต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล สิ่งแวดล้อม และสังคมสูงวัย


2. การเข้าถึงได้สะดวกสบาย (Easy Access)

ที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของเอเชีย มีความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคระดับมาตรฐาน ศูนย์ประชุมระดับนานาชาติ อีกทั้งยังมีไมซ์ซิตี้จำนวน 10 เมือง ได้แก่ กรุงเทพ ขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก พัทยา ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และอุดรธานี พร้อมเพิ่มทางเลือกในการจัดกิจกรรมไมซ์หลากหลายรูปแบบ

  •   โครงการสำคัญ (Mega Project)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุถึงแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 โดยตัวแปรสำคัญที่ต้องจับตามอง คือ การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ การลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2566 มีมูลค่าการลงทุนรวม 443,351 ล้านบาทโครงการลงทุนสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่

  1. โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย วงเงิน 179,413 ล้านบาท
  2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 91,974 ล้านบาท
  3. โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 วงเงิน 28,585.93 ล้านบาท
  4. โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก วงเงิน  20,767.34 ล้านบาท
  5. โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร – นครพนม วงเงิน 61,273.31 ล้านบาท
  6. โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่โซน C วงเงินลงทุนรวม 17,343.86 ล้านบาท
  7. แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 วงเงินลงทุนรวม 15,493.84 ล้านบาท
  8. โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ วงเงินลงทุนรวม 76,368.66 ล้านบาท
  9. โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 วงเงิน 28,142.5 ล้าานบาท
  10. โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 – 9 วงเงินลงทุนรวม 42,557.14 ล้านบาท
  •   ท่าอากาศยาน

รัฐบาลเร่งพัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศ เตรียมรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ส่งเสริมบทบาทไทยเป็น “ศูนย์กลาง” คมนาคมของอาเซียน พัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเร่งปรับปรุงพัฒนาสนามบินที่มีอยู่เดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับการเดินทางและขนส่งทั้งในและระหว่างประเทศ สอดรับกับนโยบายเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของรัฐบาล รอยต่อ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ

  1. สนามบินสุวรรณภูมิเป็นการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลดความแออัด พร้อมเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอาเซียน 
  2. สนามบินดอนเมือง เฟส 3 เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี
  3. สนามบินอู่ตะเภา รัฐบาลมีแผนจะเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ระหว่างสนามบินอู่ตะเภา สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย
  4. สนามบินนานาชาติกระบี่ มีการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อให้เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 1,500 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 8 ล้านคนต่อปี
  5. สนามบินนานาชาติแม่สอด จังหวัดตาก มีการขยายเพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1.7 ล้านคนต่อปี
  6. สนามบินขอนแก่น มีโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 1,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 2,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 5 ล้านคนต่อปี 
  •   แบงค็อก อารีนา ระดับเวิล์ดคลาส แห่งใหม่

แบงค็อก อารีนา ตั้งอยู่ที่โครงการ แบงค็อก มอลล์ ศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ฮอลล์แสดงคอนเสิร์ตและกิจกรรมบันเทิง ความจุ 16,000 ที่นั่ง สำหรับการจัดคอนเสิร์ต และอีเวนท์ระดับโลก โดยมีเดอะมอลล์ กรุ๊ป เป็นเจ้าของและผู้พัฒนาโครงการค้าปลีกชั้นแนวหน้าของไทย จับมือ Anschutz Entertainment Group (AEG)  ผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงและกีฬาระดับโลก ประกาศความร่วมมือในการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท สร้าง แบงค็อก อารีนา ให้เป็น World Class Arena แห่งใหม่ และ EM LIVE ซึ่งจะตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้า ดิ เอ็มสเฟียร์ (THE EMSPHERE) มีความจุ 6,000 ที่นั่ง ด้วยสถาปัตยกรรมระดับ STATE-OF-THE-ART พร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยอารีนาแห่งใหม่จะกลายเป็น ICONIC LANDMARK ที่สำคัญ ในการดึงดูดลูกค้าทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจชาติ และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจความบันเทิง การท่องเที่ยว กีฬา ศิลปวัฒธรรม และธุรกิจไมซ์ของภูมิภาคเอเชีย กำหนดเปิดตัวในปี 2566 – 2567 

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.themall.co.th/ 

editor image

เดรดิตภาพ : FB The Mall Group 

3. การพัฒนาในประเทศไทย (New Development)

  •   การพัฒนาด้านระบบคมนาคม

รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ถือเป็นรถไฟฟ้าสายสำคัญ โดยเป็นโครงการหนึ่งในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region: M-MAP) เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทางซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แบ่งเบาภาระในการเดินทาง  ประหยัดเวลา แก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่น และกระจายความเจริญไปในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางของรถไฟฟ้า ลดมลพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งจุดสำคัญคือรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีสถานีปลายทางอย่างสถานีมีนบุรีมีการเชื่อมต่อเส้นทางสายแยก (อิมแพคลิงก์) เชื่อมต่อไปยังสถานีอิมแพค ชาเลนเจอร์ ซี่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักเดินทางไมซ์ในการเดินทางได้เป็นอย่างดี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

editor image

เครดิตภาพ : FB ThaiPublica

  •   การพัฒนาด้านเทคโนโลยี

‘ChatGPT’ ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์เนื้อหาจากข้อมูล (Sophisticated AI for Data-Driven Content Creation) สุดยอด AI อัจฉริยะที่สามารถสื่อสารผ่านข้อความกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ที่ขณะนี้กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก เนื่องจาก ChatGPT ไม่ได้แค่ช่วยหาข้อมูลคำตอบได้เพียงไม่กี่วินาที แต่ยังรู้จักการเรียบเรียงคำตอบด้วยภาษาวิชาการที่สละสลวยถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ลำดับเรื่องราว ลำดับประเด็นอย่างมีเหตุและผล รู้จักการคิดวิเคราะห์แยกแยะให้เสร็จสรรพ สามารถวางแผนทำเนื้อหานำเสนอ ช่วยในการวิจัย หาข้อมูล ช่วยทำให้งานที่เกี่ยวกับการทำ SEO ง่ายขึ้น รวมถึงยังเป็นตัวช่วย SMEs ในการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง และยิ่งผู้ใช้มีความรู้ในเรื่องที่จะถามมากเท่าไหร่ก็ยิ่งค้นหาได้ง่าย หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สำหรับประเทศไทยเริ่มมีการนำมาใช้งาน อีกทั้งภาคการศึกษานักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น วิศวะฯ ก็สามารถนำมาต่อยอดงานของตัวเอง  สามารถใช้ ChatGPT เป็นฐานองค์ความรู้ เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทยให้มีศักยภาพมากขึ้น 

  •   การพัฒนาด้านบุคลากร

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เดินหน้าเสริมทักษะแรงงานด้านดิจิทัล ทั้งแบบออนไซต์ ออนไลน์ เพิ่มความสะดวกยุคดิจิทัลออนไลน์ เนื่องจากในขณะนี้ตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลระดับสูง เพื่อบรรจุเข้าทำงาน ได้แก่ กลุ่มอาชีพพัฒนาซอฟต์แวร์ พัฒนาเว็บ ระบบข้อมูลและฐานข้อมูล Internet of Things ความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลและการตรวจสอบ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง แรงงานที่สามารถปรับตัวเรียนรู้และวิวัฒนาการได้เร็วที่สุด จำเป็นต้องอาศัยการแปลและการเรียนรู้จากข้อมูล (DATA) และจากเหตุผลดังกล่าว ทำให้แรงงานมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ เพิ่มทักษะเพื่อยกระดับความสามารถต่อยอดในสายงาน หรือตำแหน่งงานที่กำลังเป็นที่ต้องการในปัจจุบันเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งดำเนินการอัพสกิลให้แก่แรงงานเพื่อรองรับความต้องการแรงงานด้านดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที ภายในปี 2566 จะมีการดำเนินการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงาน เป้าหมายเริ่มต้นที่ 1,200 คน ทั้งในรูปแบบ Online และ On-site และจะมีการดำเนินการอบรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (DiSDA) สถาบันและสำนักพัฒนาฝีมือแรงงาน ทุกแห่งทั่วประเทศ

เลือกประเทศไทย

  • new-experience

    ประสบการณ์ใหม่

  • various-places

    หลากหลายสถานที่

  • full-service

    บริการครบวงจร

  • thai-identity

    เอกลักษณ์ไทย

  • connecting-hub

    ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย