เลือกประเทศไทย

(JUL23) ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย

editor image

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการวางโครงสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ วางกลยุทธ์ทำความร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ร่วมพัฒนาเมืองไมซ์ซิตี้ 10 แห่งประจำทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมจัดตั้งสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการประจำภูมิภาค 4 ภาค ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในภูมิภาค สนับสนุนการจัดงานและผู้จัดงานไมซ์ในแต่ละภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง พร้อมเดินหน้าลงทำงานเชิงรุกกระจายในพื้นที่ ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน หวังวางรากฐานไมซ์ไทยเพื่อก้าวขยายสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของเอเชีย โดยร่วมกับจังหวัด สมาคม หน่วยงาน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด  เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมปลดล็อคธุรกิจไมซ์ในสูตร “ฟื้นฟู สนับสนุน ส่งเสริม”  ชูเรื่องความปลอดภัยในการดันไมซ์ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ชิงความได้เปรียบในทุกด้านเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ที่วันนี้ประเทศไทยมีศักยภาพความพร้อมสูงสุดในทุกด้าน


1. พื้นที่ยุทธศาสตร์ (Strategic Location)

ประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย และมีเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างประเทศ มีการถ่ายเทสินค้า บริการ ฝีมือแรงงาน และการค้าการลงทุนระหว่างกัน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียนและเอเซีย และเป็นประเทศฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลักของโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และไอที เป็นต้น

  •   การส่งออก 

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2566 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น จากปัจจัยด้านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกไทยจะดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2566 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าคาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทำให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น รวมทั้ง GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งครึ่งปีแรกจะขยายตัวร้อยละ 2.9-3 และในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4 ส่งผลให้ปี 2566 GDP ของไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.6 สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ ในช่วงครึ่งปีแรกยังสูงที่ร้อยละ 3.3 แต่ในช่วงครึ่งหลังเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่ากรอบอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลก    เศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งการบริโภค และการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะไปถึง 29-30 ล้านคนและรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงติดตามสภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน

editor image

  เครดิตภาพ : ธนาคารแห่งประเทศไทย 

  •   การลงทุนในประเทศไทย

คำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 891 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และมีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับคำขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวน 464 โครงการ มูลค่ารวม 286,930 ล้านบาท คิดเป็น 79% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และ ชิ้นส่วนตามลำดับ        ในส่วนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 106 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด กว่า 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องจากกระแสย้ายฐานการผลิตของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้าและความขัดแย้งของขั้วมหาอำนาจ รวมทั้งต้นทุนการผลิตในโลกตะวันตกที่สูงขึ้นมาก ประกอบกับนักลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย จึงเลือกขยายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย          อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีจำนวน 139 โครงการ เงินลงทุนรวม 51,270 ล้านบาท นอกจากการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรายเดิมทั้งไทยและต่างชาติแล้ว ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้มีบริษัทระดับโลกหลายรายตัดสินใจขยายฐานผลิตมาที่ประเทศไทย เช่น บริษัท พริงเกิลส์ ผู้ผลิต มันฝรั่งแผ่นจากสหรัฐอเมริกา และบริษัท โลตัส บิสคอฟ ผู้ผลิตบิสกิตชื่อดังในแบรนด์ Lotus Biscoff สัญชาติเบลเยี่ยม           เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 การประกาศอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) โดยบริษัท Fitch Ratings (Fitch) ประเทศไทยอยู่ที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) หนี้สาธารณะเริ่มลด ยอดดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เพิ่ม70%

  •   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ระยะ 5 ปี 2566-2570

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 2 ที่แปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี ข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2566-2570 ได้มีการกำหนดหมุดหมายการพัฒนาประเทศไทยสู่ "สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน" จำนวน 13 หมุดหมาย แบ่งออกได้เป็น 4 มิติ ดังนี้

        1) มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย

        หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

        หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน

        หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก

        หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง

        หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค

        หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน

        2) มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม

        หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้

        หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน

        หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม

        3) มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

        หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

        หมุดหมายที่ 11 ไทยสามรถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

        4) มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ

        หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต

        หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน


2. การเข้าถึงได้สะดวกสบาย (Easy Access)

ที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของเอเชีย มีความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคระดับมาตรฐาน ศูนย์ประชุมระดับนานาชาติ อีกทั้งยังมีไมซ์ซิตี้จำนวน 10 เมือง ได้แก่ กรุงเทพ ขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก พัทยา ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และอุดรธานี พร้อมเพิ่มทางเลือกในการจัดกิจกรรมไมซ์หลากหลายรูปแบบ

  •   โครงการสำคัญ (Mega Project)

โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน เป็นโครงการที่รัฐบาลผลักดันจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองสุขภาพโลกสอดรับกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศสู่การเป็น "ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ" (Medical Hub) เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาโรคซับซ้อนของประชาชนในกลุ่มจังหวัดอันดามันและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทย โดยโครงการแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1. วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ ผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของพื้นที่อันดามันและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการผลิตทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์และแพทย์แผนไทย รวมทั้งเป็นโอกาสทางการศึกษาของประชาชนในพื้นที่ด้วยโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์การศึกษาด้านสาธารณสุขของภูมิภาคอาเชียนด้วย

2. โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางขนาด 300 เตียง เน้นการบริการ Tertiary Care การแพทย์แม่นยำ การแพทย์ทางไกลและการบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับพรีเมียม ซึ่งเป็นการบริการการรักษาเฉพาะทาง โรคซับซ้อน มีระบบส่งต่อระหว่างกันกับโรงพยาบาลในพื้นที่อันดามัน ซึ่งจะใช้งบประมาณมากที่สุดราว 4,762 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างปี 2566 และคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2569

3. ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ซึ่งมีส่วนย่อยเป็นศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล สงขลานครินทร์ ซึ่งจะเป็นศูนย์ทันตกรรมนานาชาติที่ทันสมัยแห่งแรกในภาคใต้ มีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 2567 ทั้งนี้มีการประเมินว่าโครงการศูนย์สุขภาพอันดามันจะเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 62,000 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า โครงการศูนย์สุขภาพอันดามัน จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น สามารถให้บริการในระดับสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 62,000 ล้านบาท/ปี

editor image

  •   ท่าอากาศยาน

รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการขยายศักยภาพของท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (International Airport) ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และอู่ตะเภา ให้สามารถรองรับผู้เดินทางตามประมาณการของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ที่คาดว่าจะมีผู้เดินทางเข้าประเทศไทยแตะ 200 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2574 โดยรายละเอียดแต่ละโครงการ มีดังนี้

1. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยและมีกำหนดจะเปิดให้บริการภายในปีนี้ ซึ่งอาคารแห่งนี้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบัน 45 ล้านคนต่อปี ต่อด้านการพัฒนาทางวิ่งเส้นที่3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จปี 2567 จะช่วยเสริมศักยภาพรองรับเที่ยวบินเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากปัจจุบัน 2 ทางวิ่งรองรับได้อยู่ 68 เที่ยวบิน/ชั่วโมง

2. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ประกอบด้วย การก่อสร้างหลายส่วน อาทิ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อาคารเทียบเครื่อง ทางขับ หลุมจอด คลังสินค้า ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านงานสนับสนุน เช่น อาคารจอดรถ อาคารสำนักงาน ถนนภายในท่าอากาศยาน อาคารบำรุงรักษาและพื้นที่พักขยะ ระบบระบายน้ำ อาคารดับเพลิงและกู้ภัย เป็นต้น โดยโครงการนี้จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคน จากปัจจุบันรองรับได้ 30 ล้านคน

3. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีแผนการพัฒนารวม 4 ระยะ โดยจะสิ้นสุดระยะที่ 4 ที่รองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี ในปี 2598 สำหรับระยะที่ 1 ที่มีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567 จะรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 15.9 ล้านคน 

4. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เพื่อขยายขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารจากเดิม 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ประกอบไปด้วย การขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขยายหลุมจอดอากาศยาน ลานจอด รวมถึงขีดความสามารถของระบบสาธารณูปโภค ขณะนี้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) อยู่ระหว่างเตรียมจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดโครงการ

editor image

  • ไทยอันดับ 9 ประเทศที่มีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ปี 2566

ธนาคารโลก เผยแพร่รายงาน ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ประจำปี 2566 (Logistics Performance Index 2023 – LPI 2023) ไทยติดอันดับ 9 จาก 139 ประเทศและดินแดน ในหมวดโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยคะแนน 3.7 คะแนน ร่วมกับกรีซ อิสราเอล มอลตา และอังกฤษ ขณะที่ สิงคโปร์ติดอันดับ 1 ด้วยคะแนน 4.6 คะแนน ส่วนมาเลเซียติดอันดับ 10 ร่วมกับอีกหลายประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ คาดว่าในปี 2566 ภาคโลจิสติกส์ของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัว รวมถึงธุรกิจ e-Commerce ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเพิ่มทางเศรษฐกิจในกิจกรรมโลจิสติกส์และธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของประเทศไทยในภาพรวม 

กลยุทธ์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทย

o ส่งเสริมการสร้างพันธมิตรและเครือข่ายของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย

o สร้างโอกาสทางการค้าและการรับรู้ศักยภาพของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยในระดับสากล

o พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย ให้ได้รับการรับรองคุณภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ สามารถแข่งขันและขยายธุรกิจบริการในระดับสากล

o ส่งเสริมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย

o สนับสนุนภารกิจการเชื่อมโยงการค้าสู่ E-commerce กับการขนส่งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Logistics)

3. การพัฒนาในประเทศไทย (New Development)

  •   การพัฒนาด้านระบบคมนาคม

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดให้บริการครบ 23 สถานี ตั้งแต่ 19 มิถุนายน 2566 รองรับผู้โดยสาร 17,000 คนต่อชั่วโมง ต่อทิศทาง และมีทั้งหมด 30 ขบวน ตอบโจทย์การเดินทางในหลากหลายเส้นทาง ความสำคัญอย่างหนึ่งคือ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีเส้นทางการเดินรถ เชื่อมต่อกับระบบรางเส้นทางอื่น ๆ หลากหลายสาย ทำให้การเดินทางในเมืองให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยผ่านจุดสำคัญดังนี้ 

o ห้างสรรพสินค้า: ยูเนี่ยน มอลล์, เซ็นทรัล ลาดพร้าว, เดอะมอลล์ บางกะปิ, ธัญญาพาร์ค, เมกะ บางนา, เซ็นทรัล บางนา, ซีคอนสแควร์ และ อิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง เป็นต้น

o โรงพยาบาล: ลาดพร้าว, เปาโล, เวชธานี,  สมิติเวช, ไทยนครินทร์, กล้วยน้ำไท 2 และ รามคำแหง เป็นต้น

o สวนสาธารณะ: สวนจตุจักร, สวนรถไฟ, สวนพฤกษชาติคลองจั่น, บางกระเจ้า และ สวนหลวง ร.9 เป็นต้น

editor image

เครดิตภาพ : Wikipedia

  •   การพัฒนาด้านเทคโนโลยี

Virtual Experience หรือ เทคโนโลยีสร้างประสบการณ์เสมือนจริง เป็นเทคโนโลยีที่มีการนำเทคโนโลยีอย่าง AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality), MR (Mixed Reality) รวมถึง Metaverse มาสร้างภาพจำลองเสมือนจริงแบบ 360 องศาเชื่อมโยงผู้คนระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือนเข้าด้วยกัน เพื่อมอบประสบการณ์ให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวที่นิยมนำมาปรับใช้ เพื่อดึงดูดเหล่านักเดินทางด้วยประสบการณ์ผ่านโลกเสมือนที่สมจริงหรือ Virtual-reality tours รวมไปถึงการจัดงานไมซ์ เช่น งานอีเวนต์ หรือนิทรรศการแสดงงานศิลปะ ให้มีความโดดเด่นในการจัดงานมากยิ่งขึ้น ช่วยสร้างภาพลักษณ์ของงานให้ทันสมัย เพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ ตลอดจนสามารถเติมเต็มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ร่วมงานไมซ์ได้

  •   การพัฒนาด้านบุคลากร

ในครึ่งปีหลัง 2566 รัฐบาลเร่งเดินหน้าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลเตรียมความพร้อม สนับสนุนการพัฒนา และจัดสรรทรัพยากรแรงงาน ทั้งการฝึกความพร้อม และเพิ่มพูนทักษะทุกด้านที่จำเป็น อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการฝึกอบรมเพื่อความพร้อมด้านภาษา และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนทักษะและเปลี่ยนสายอาชีพให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นแรงงานมีฝีมือเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถการหารายได้ และยกระดับผลิตภาพของแรงงานในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อยกระดับวิถีชีวิตของแรงงานและครอบครัว องค์ความรู้ที่แรงงานจะได้รับ ตลอดจนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยอย่างสมดุล ยั่งยืน

เลือกประเทศไทย

  • new-experience

    ประสบการณ์ใหม่

  • various-places

    หลากหลายสถานที่

  • full-service

    บริการครบวงจร

  • thai-identity

    เอกลักษณ์ไทย

  • connecting-hub

    ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย