ทีเส็บ ใช้กลไกไมซ์เป็นเวทีเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

ดึงประเทศสมาชิกจับมือสร้างเครือข่ายบริหารจุดแข็ง เตรียมพร้อมขยายตลาดสู่ GMS

  สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุม และนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ร่วมกับจังหวัดเชียงราย จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ SEZ ( Thailand MICE Seminar on SEZ 2017 – TMSS) ขึ้น ณ จ. เชียงราย  ดึงสปป.ลาว สหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาชนจีน (ตอนใต้) ร่วมใช้กลไกไมซ์เป็นเวทีในการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เพื่อสร้างเครือข่ายในการบริหารจุดแข็งร่วมกัน   และเตรียมความพร้อมสู่การขยายความร่วมมือไปยังประเทศในกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขง หรือ Greater Mekong Subregion (GMS) ในอนาคตนาย

   ภูริพันธ์  บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุม และนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ SEZ ( Thailand MICE Seminar on SEZ 2017 -TMSS) ในครั้งนี้ว่า ทีเส็บในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ให้การส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาและงานแสดงสินค้า เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังเชื่อมต่อกับจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษจากประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ดังนั้น ทีเส็บจึงเห็นว่า หากนำกลไกไมซ์ (การประชุม การประชุมทางวิชาชีพ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และงานแสดงสินค้า) เต็มรูปแบบ มาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาและสร้างเครือข่ายความแข็งแกร่งในด้านต่างๆร่วมกัน จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากเป็นเมืองค้าชายแดนที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอยู่ในอันดับต้นๆ มีจุดผ่านแดนถาวร 6 จุด เชื่อมกับสหภาพเมียนมา 3 จุด และสปป.ลาว 3 จุด ด้วยภูมิประเทศที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา สปป.ลาว และสามารถเชื่อมทะลุไปยังจีนตอนใต้ ดังนั้นเชียงรายจึงเป็นประตูการค้าชายแดนที่เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (เส้นทาง R3A และ R3B) รวมทั้งยังเป็นเมืองการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่เข้าร่วมในโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจที่เชื่อมโยง GMS อีกด้วย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการปูพื้นฐานเกี่ยวกับความรู้ด้านไมซ์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ภาครัฐและเอกชนจากทั้งในไทย เมียนมา สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ และเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการเดินทางมาท่องเที่ยวในลักษณะการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และงานแสดงสินค้า ระหว่างประเทศกลุ่ม GMS ร่วมกันมากยิ่งขึ้น

   โดยในงานดังกล่าวได้มีการเปิดเป็นเวทีนานาชาติ เพื่อระดมความคิดเห็นใน 3 หัวข้อด้วยกันคือ “สี่เหลี่ยมเขตเศรษฐกิจกับความร่วมมือในการบริหารจุดแข็งร่วมกัน” , “ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเส้นทาง GMS / Lancang-Mekong Cooperation (LMC)” และ “ความร่วมมือด้านเส้นทางการท่องเที่ยวและไมซ์เส้นทาง GMS / LMC” เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนของทั้ง 4 ประเทศ ได้มีโอกาสร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในระดับนโยบาย รวมถึงปัญหาอุปสรรค สิทธิประโยชน์ของนักลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และแนวความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการของหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและประเด็นอื่นๆร่วมกัน โดยในห้องประชุมดังกล่าว ประกอบไปด้วยผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนของจังหวัดเชียงราย, แพร่, น่าน, พะเยา / เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (บ่อแก้ว) ,เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ของ สปป.ลาว / จ.ท่าขี้เหล็ก, จ.เชียงตุง ของสหภาพเมียนมา และ อ.ผู่เอ๋อร์ มณฑลหยุนหนาน  ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการบริหารร่วมกัน

“พื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ  เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง TCEB ก็ได้เล็งเห็นว่าหากประเทศสมาชิกได้มีโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ร่วมกัน ก็จะเป็นอีกส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปขับเคลื่อน และกระตุ้นเม็ดเงินในพื้นที่นี้ได้  เนื่องจากขณะนี้นักเดินทางไมซ์จากทั่วโลกเดินทางเข้ามาจัดการประชุม ศึกษาดูงาน รวมทั้งมาท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งนักเดินทางไมซ์ถือว่ามีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นถึง 3.5 เท่า นอกจากนี้อุตสาหกรรมไมซ์ยังสามารถเป็นเวทีในการเจรจาแลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างประเทศกลุ่มสมาชิก และจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายโอกาสทางการค้าร่วมกันไปยังภูมิภาคอื่นอีกด้วย ซึ่งอยากจะยกตัวอย่างให้ทราบว่าการจัดงานครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านจากชุมชนบ้านห้วยไคร้ บ้านห้วยแก้วและบ้านปางขอน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตชาอัสสัมออร์แกนิคแท้ จากต้นชาที่มีอายุกว่า 100 ปี และอยู่ในป่าธรรมชาติ จะได้มีโอกาสพบปะเพื่อเจรจาเปิดตลาดชาอัสสัมกับผู้แทนจากผู่เอ๋อร์ ที่เป็นแหล่งผลิตชาระดับโลก ซึ่ง TCEB รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำให้เกิดเวทีการพบปะกันในครั้งนี้  นั่นหมายความว่าการจัดการประชุมของเราสามารถต่อยอดธุรกิจให้กับชุมชนได้อย่างเห็นเป็นรูปธรรม” นายภูริพันธ์ กล่าว

   ด้าน นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวถึงศักยภาพของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ว่า ในปัจจุบันจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจำนวน 3 อำเภอด้วยกันประกอบด้วย อำเภอแม่สาย ซึ่งกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน (Trading City) เนื่องจากมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการค้าที่เติบโตต่อเนื่อง, อำเภอเชียงแสน ซึ่งกำหนดให้เป็นศูนย์การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และท่าเทียบเรือนานาชาติ (Port City) โดยมีความโดดเด่นในการเป็นพื้นที่ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ รวมทั้งยังมีท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ซึ่งเชื่อมโยงการค้ากับ สปป.ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้ และ อำเภอเชียงของ ซึ่งกำหนดให้เป็นศูนย์โลจิสติกส์และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ (Logistic City) เนื่องจากมีความพร้อมในด้านการขนส่ง โดยมีถนนเชื่อมโยงจากถนนสายอาเซียน R3B ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ทำให้มีความพร้อมในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน

   โดยในปี 2559 มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือน จ.เชียงรายถึง 2.7 ล้านคน  มีมูลค่าการค้าชายแดนรวม 4.04 หมื่น ล้านบาท  จำแนกเป็นการค้ากับจีนตอนใต้ มูลค่าการค้ารวม 1.26 หมื่นล้านบาท การค้ากับ สปป.ลาว มูลค่าการค้ารวม 1.6733 หมื่นล้านบาท และการค้ากับเมียนมา มูลค่าการค้ารวม 1.1062 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากการพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศของจีน เมียนมา และสปป.ลาว อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2560 มูลค่าการค้าชายแดนจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10

   “จากศักยภาพของเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย หากนำอุตสาหกรรมไมซ์เข้ามาเป็นกลไกช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงไปยัง GMS เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

   อนึ่งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุม และนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาการจัดงานกิจกรรมทางธุรกิจในประเทศไทย ในการมุ่งมั่นทำงานเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงานกิจกรรมทางธุรกิจที่โดดเด่นของทวีปเอเชีย โดยการสนับสนุนการจัดงานที่มีความคล่องตัวและเน้นการบริการเป็นหลักสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลจากทั่วโลก ผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาและการจัดแสดงนิทรรศการ พร้อมมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมงานได้รู้จักจุดหมายปลายทางที่หลากหลาย กิจกรรม และสิ่งที่น่าสนใจต่างๆในประเทศไทย มาเป็นพันธมิตรเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ขณะเดียวกัน TCEB มีบทบาทสำคัญในการชี้แนะแนวทางเชิงกลยุทธ์แก่อุตสาหกรรม MICE ซึ่งประกอบด้วย การจัดประชุมสัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดนิทรรศการ และการแสดงสินค้า โดยส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการวางแผนในระดับภาคส่วนและให้คำปรึกษาแก่บริษัททั่วไป ในการ เป็นผู้นำอุตสาหกรรมพร้อมแนะแนวความคิดสร้างสรรค์สำหรับการพัฒนาการจัดงานกิจกรรมทางธุรกิจ ให้การสนับสนุนผู้ให้บริการงานกิจกรรมทางธุรกิจเอกชนโดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดและแนะแนวทางในการสร้างธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืนของภาคส่วนโดยรวมในระยะยาว ให้การสนับสนุนแบบเฉพาะตัว โดยเป็นตัวกลางในการสร้างพันธมิตรใหม่ ๆ ให้กับผู้จัดงานอีเวนท์ประเภท MICE และส่งเสริมความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ภายในภูมิภาคและระดับโลก เครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และกว้างไกลเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคต

แชร์บทความ