รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เรื่อง การปรับเขตพื้นที่จังหวัด และการบังคับใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด วันที่ 15 กรกฎาคม 2564



รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

เรื่อง  การปรับเขตพื้นที่จังหวัด และการบังคับใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564

จากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทวีความรุนแรงขึ้นในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงจำเป็นต้องยกระดับมาตรการและการบังคับใช้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติดังนี้ 

1. ปรับเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์

ศบค.มีคำสั่งปรับเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ใหม่และให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการขั้นสูงสุดที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดฉบับที่ 24 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2564 และข้อกำหนดฉบับที่ 25 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนดนี้และประกาศให้ได้รับทราบ

- พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดได้แก่จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สงขลานราธิวาส ปัตตานี ยะลา

- พื้นที่ควบคุมสูงสุด 24 จังหวัด ได้แก่จังหวัด กระบี่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตาก นครนายก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อุทัยธานี

        - พื้นที่ควบคุม 25 จังหวัด ได้แก่จังหวัด กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยภูมิ ชุมพร ตรัง ตราด บุรีรัมย์ พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สตูล สระแก้ว สุโขทัย สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี 

- พื้นที่เฝ้าระวังสูง 18 จังหวัด ได้แก่จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ นครพนม น่าน บึงกาฬ พะเยา พังงา แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ลำปาง ลำพูน สกลนคร หนองคาย อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์

2. การห้ามออกนอกเคหสถาน 

ห้ามบุคคลในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลคือ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาครและจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ออกนอกที่พักระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เป็นอย่างน้อย 14 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดและต้องโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 4

3. การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ช่วย หรือบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนดประกาศ หรือคำสั่งของทางราชการ ตำรวจ ทหาร หรือพลเรือนซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อ 2 และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมในการรับแจ้งเบาะแส เหตุฉุกเฉิน เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนรวมทั้งปราบปรามผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องที่ละเมิดกฎหมาย

4. บุคคลที่ได้รับยกเว้น

บุคคลตามกรณีดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นการห้ามออกนอกที่พักตามข้อ 2  

1) การสาธารณสุข ได้แก่ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ต้องปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ผู้ป่วย หรือผู้มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ หรือเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมทั้งผู้ดูแลบุคคลดังกล่าว 

2) การขนส่งสินค้า ได้แก่ ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมัน เชื้อเพลิง ไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ สินค้าเพื่อการส่งออกนำเข้า 

3) การขนส่งหรือขนย้ายประชาชนได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานขนส่งสาธารณะผู้ขนส่งและผู้เดินทางมาจากหรือไปยังสนามบิน หรือ สถานีขนส่ง ผู้ขนส่ง และประชาชนที่เดินทางไปยังที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อศูนย์พักคอยรอการส่งตัวหรือระบบแยกกักเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ ผู้โดยสาร และผู้เกี่ยวข้องที่จำเป็นที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัด

  4) การให้บริการหรืออำนวยประโยชน์ความสะดวกแก่ประชาชนได้แก่ ผู้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง ผู้ประสบภัย ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและอาหาร ผู้ตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภคระบบระบายน้ำระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผู้เก็บขยะ ผู้ซ่อมแซมและปรับปรุงโครงข่ายอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ผู้ช่วยเหลือภัยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภัยพิบัติ ผู้บริการด้านธนาคาร ตลาดทุนประกันภัย ผู้ที่จำเป็นต้องดำเนินงานกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือต้องติดต่อราชการกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ 

5) การประกอบอาชีพที่จำเป็นได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานตามรอบเวลา กะ หรือทำงานตามผลัดเปลี่ยนเวรยาม หรือตามเวลาที่กำหนดไว้ของราชการและเอกชน ทำงานโรงงาน งานก่อสร้าง งานบำรุงรักษา หรืองานเกี่ยวเนื่องที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานได้งานดูแลรักษาความปลอดภัยงานเกษตรกรรม ประมง ปศุสัตว์ หรือตรวจรักษาสัตว์

6) กรณีจำเป็นอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยให้บุคคลที่มีความจำเป็นตามข้อ 1) ถึง 5) แสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอย่างอื่น และเอกสารรับรองความจำเป็น เอกสารเกี่ยวกับสินค้า บริการ การเดินทาง หรือหลักฐานอื่นๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัดโดยแสดงเหตุจำเป็นพร้อมหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เช่นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่ออนุญาต

5. การกำหนดกรณียกเว้นเพิ่มเติม

ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอผ่านศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศปก.ศบค.) เพื่อให้นายกฯพิจารณาอนุญาตในกรณีที่สมควรเพิ่มเติมข้อยกเว้นการห้ามออกนอกที่พักตามข้อ 4 เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์

6. มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง

ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งเต็มความสามารถที่ทำได้การปฏิบัติงานของหน่วยงานที่ต้องให้บริการประชาชนโดยตรง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคการรักษาความปลอดภัยรักษาความสงบเรียบร้อยหรืองานที่มีกำหนดเวลาปฏิบัติชัดเจนและได้นัดหมายไว้แล้วล่วงหน้า เช่น การรักษาพยาบาล การติดต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมให้ดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสมการปฏิบัติงานของภาคเอกชน ให้เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ หรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบการ พิจารณาสนับสนุนปรับรูปแบบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรในสังกัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ลดการเดินทางเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อน

7. มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เปิดดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดจากที่เคยกำหนดไว้แล้ว ดังนี้

1) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ โรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดค้าส่ง ตลาดโต้รุ่ง หรือสถานประกอบการลักษณะคล้ายกันที่มีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่น ได้ถึงเวลา 20.00 น.  

2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน เปิดได้ถึง 20.00 น.ให้เปิดบริการได้เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ยาและเวชภัณฑ์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เครื่องมือช่างและอุปกรณ์ ก่อสร้าง ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ การบริการ ซ่อมแซมบำรุงรักษา บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์การสาธารณสุขอื่นๆ และส่วนที่เป็นที่ทำการของรัฐหรือเอกชน

3) ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน เปิดได้ถึง 20.00 น. ร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงให้เปิดบริการเวลา 04.00 น. และปิดบริการเวลา 20.00 น.

4) สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา หรือสถานที่ออกกำลังที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้งเปิดได้จนถึง 20.00 น.

5) สถานประกอบการนวดแผนไทย บริการนวดฝ่าเท้าสปา สถานเสริมความงาม สถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้ปิดดำเนินการ ร้านเสริมสวยแต่งผมหรือตัดผม ยังให้บริการได้ตามเงื่อนไขที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

6) ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนเกิน 5 คนโดยให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามข้อกำหนด ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดการอบรมสัมมนา หรือประชุมด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวปฏิบัติที่ ศปก. ศบค.กำหนดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่เคยอนุญาตให้จัดได้ตามข้อกำหนดที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้หากต้องการจะจัดกิจกรรมในช่วงนี้ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก. ศบค. กำหนด

7) โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ 

8. การขนส่งสาธารณะ 

ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบกำกับ ดูแลการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท ให้จัดระบบระเบียบ จำนวน และเวลาการให้บริการตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติที่ ศปก. ศบค. กำหนดในระหว่างเวลา 04.00-21.00 น.

9. การเดินทางข้ามจังหวัด

ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดกรณีที่จำเป็นต้องเดินทางอาจไม่ได้รับความสะดวกและใช้ระยะเวลามากกว่าปกติ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในเส้นทางเข้าออกกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดฉบับที่ 25 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2564 และตามแนวปฏิบัติที่ ศปก. ศบค. กำหนดให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบกำกับการผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัดจากกรุงเทพฯ จังหวัดปริมณฑลพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามข้อกำหนดนี้ เพิ่มความเข้มงวดกับผู้ประกอบการ ตรวจคัดกรองการเดินทางจัดระบบระเบียบให้เป็นตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติที่ ศปก. ศบค. กำหนดสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดให้กระทรวงคมนาคมจัดระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

10. มาตรการป้องกันและรองรับผู้ติดเชื้อการแพร่ระบาดในเขตชุมชน

ให้กรุงเทพฯและจังหวัดปริมลฑลดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ สนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรหรือการแพทย์แผนไทยในการบำบัด รักษา ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเร่งจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราว โรงพยาบาลสนาม เร่งวางระบบจัดหาสถานที่ จัดตั้งศูนย์พักคอยรอการส่งตัวหรือระบบแยกกักให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ รวมทั้งเพิ่มจุดตรวจคัดกรองและเร่งบริการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด) การฉีดวัคซีนในพื้นที่แพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนโดยให้เป็นไปตามแผนที่ ศบค. กำหนดสำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดนี้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

11. มาตรการไม่ให้บิดเบือนข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน 

การเสนอข่าวหรือการเผยแพร่ทางหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วประเทศถือเป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

12. การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และกำกับการปฏิบัติตามมาตรา ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน จนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 เว้นแต่ได้มีการประเมินความเหมาะสมของสถานการณ์ต่อไปแต่การเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และการประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมล่วงหน้าให้ทำได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

สามารถตรวจสอบประกาศและมาตรการของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้

http://www.moicovid.com/ข้อมูลสำคัญ-จังหวัด


อ้างอิง

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/154/T_0001.PDF

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/154/T_0007.PDF

http://www.bangkok.go.th/main/page.php?&140-News&type=detail&id=820


###


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากองค์การอนามัยโลก 

https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/situation-reports

ศูนย์ข้อมูลกรมควบคุมโรคติดต่อ โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 

https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ โทร +66 (0) 2694 6000 

https://www.businesseventsthailand.com/en/situation-update-coronavirus-covid-19 หรือ info@tceb.or.th



แชร์บทความ