Thailand’s MICE Startup ปี 3 ชูนวัตกรรมแก้ปัญหาธุรกิจไมซ์จากสถานการณ์โควิด 19

ทีเส็บ จัดประกวดสุดยอดนวัตกรรมแก้ปัญหาของผู้ประกอบการไมซ์ในโครงการ Thailand’s MICE Startup ปี 3 เพื่อเป็นเวทีพัฒนานวัตกรรมช่วยแก้ปัญหาธุรกิจไมซ์จากสถานการณ์โควิด 19 และช่วยการทำงานของธุรกิจไมซ์ให้ง่ายยิ่งขึ้น นำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในธุรกิจไมซ์กับเครือข่ายนวัตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน 

ทีเส็บได้จัดทำโครงการ Thailand’s MICE Startup ปี 3 ขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 มีบริษัทผู้ผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยีร่วมผู้ประกอบการไมซ์และเหล่า สตาร์ทอัพเข้าร่วมกันอย่างคับคั่ง คัดเลือกจนเหลือ 5 ทีมสุดท้าย เพื่อร่วมเข้าชิงชนะเลิศในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563


 

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า โครงการ Thailand’s MICE Startup ในปีนี้มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมไมซ์และต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด19 ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลกต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถทางการแข่งขัน ขณะเดียวกัน   ก็เป็นการส่งเสริมศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก


โครงการ Thailand’s MICE Startup ได้รับความสนใจจากเหล่าสตาร์ทอัพอย่างมาก โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการถึง 23 ราย ซึ่งคณะกรรมการได้คัดเลือกจนเหลือ 5 ทีมเข้าชิงชนะเลิศในรอบสุดท้าย ซึ่งยังได้รับโอกาสในการเข้าร่วม “โครงการบ่มเพาะ -Incubation Program” ด้วยความร่วมมือกับ RISE (Regional Corporate Innovation Powerhouse) หรือสถาบันเร่งสปีด นวัตกรรมองค์กรระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มทักษะจากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาต่อยอดเป็นเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการไมซ์และนำไปใช้งานได้จริง


การประกวดในครั้งนี้คณะกรรมการได้มีเกณฑ์การตัดสินที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ประกอบด้วย

1. สามารถอธิบายปัญหา และวิธีการแก้ไขได้อย่างชัดเจน พร้อมบอกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างถูกต้องครบถ้วน 

2. พิสูจน์ได้ว่าวิธีการแก้ปัญหาสามารถตอบโจทย์ได้อย่างดี ผลลัพธ์ชัดเจนตรงประเด็นและนำมาปรับปรุงได้

3. ทดลองนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหากับลูกค้าเป้าหมายและได้รับการตอบสนองที่ดี

4. นำเสนอโซลูชั่น แพ็กเกจ (Solution Package) ที่เข้าใจง่าย ถูกต้อง ชัดเจน

5. มีแผนการนำเงินรางวัลไปใช้อย่างชัดเจน 

6. มีขอบเขตแผนงานชัดเจนและเหมาะสมในการขยายไปกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ

7. ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์ การตอบโจทย์อุตสาหกรรมไมซ์ในวงกว้าง สามารถอธิบายและแจกแจงเป็นมูลค่าของผลกระทบได้

การแข่งขันได้ดำเนินมาถึงรอบตัดสิน 5 ทีมสุดท้าย ซึ่งทีมที่เข้ารอบ ได้แก่ 

1. Loops กับผู้ประกอบการ MICE Communication นำเสนอการพัฒนานวัตกรรม Vanpooling for Mega Sport Events เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่จอดรถและระบบจราจรสำหรับการจัดงานอีเวนต์ด้านกีฬา  

2. SSP Platform กับผู้ประกอบการ Green World Media นำเสนอการพัฒนานวัตกรรม  New Business Model for Virtual Events  โมเดลธุรกิจสำหรับการจัดงานเสมือนจริง

3. Potioneer กับผู้ประกอบการ BITEC นำเสนอ New Use Case of Chef’s Table for Luxury Venue and Organizer  การพัฒนาบริการเชฟเทเบิ้ลสำหรับสถานที่จัดงานและผู้จัดงาน

4. Alto Tech กับผู้ประกอบการ SYN Hotel นำเสนอการออกแบบนวัตกรรมเพื่อช่วยโรงแรมประหยัดค่าไฟฟ้า  

5. NewMediaX กับผู้จัดงาน Thailand Toy Expo  นำเสนอการพัฒนานวัตกรรม Driving Offline & Online Engagement for Hybrid Exhibition ช่วยให้ผู้จัดงานแบบออฟไลน์ผสมออนไลน์เพิ่มการสร้างการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริง


ภายในงานยังมีการนำเสนอไอเดียจากทีมอื่นๆเพื่อชิงรางวัลป๊อปปูล่า ได้แก่

1. Bizcuit นำเสนอนวัตกรรม AI – Powered Real-time Analytic Camera ตัวช่วยสำหรับผู้จัดงานอีเวนต์ ช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้จัดงานและผู้ร่วมงานอย่างตรงจุด

2. Baksters นำเสนอนวัตกรรมที่เป็นตัวช่วยคำนวณด้านความปลอดภัยและความคุ้มค่ากับเม็ดเงินสำหรับผู้จัดงาน

3. Seen Digital นำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาการจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ให้รวดเร็ว แม่นยำ และไม่แออัด 

โดยในการแข่งขันรอบสุดท้ายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 นี้ได้คัดเลือกผู้ชนะทั้งหมด   3 ทีม เพื่อชิงเงินรางวัลรวมทั้งสิ้น 750,000บาท แบ่งเป็นเงินรางวัลชนะเลิศ 400,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 200,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง 100,000 บาท และรางวัลพิเศษป๊อปปูล่าโหวตอีก 50,000 บาท

 

ทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม NewMediaX ร่วมกับผู้ประกอบการ Thailand Toy Expo ด้วยการนำเสนอนวัตกรรม Driving Offline & Online Engagement for Hybrid Exhibition   ที่ช่วยให้ผู้จัดงานแบบออฟไลน์ผสมออนไลน์เพิ่มการสร้างการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริง ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมออนไลน์มีส่วนร่วมกับกิจกรรมออฟไลน์ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมกิจกรรมออฟไลน์สามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์เพื่อเติมเต็มประสบการณ์เข้าร่วมกิจกรรม และขยายฐานผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เพิ่มมากขึ้น

ทีมรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม Alto Tech ร่วมกับผู้ประกอบการ SYN Hotel ด้วยการนำเสนอการออกแบบนวัตกรรมเพื่อช่วยโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กประหยัดค่าไฟฟ้า โดยการนำ AI เข้ามาควบคุมระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆได้อย่างอัตโนมัติ 

และทีมรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม Loop ร่วมกับผู้ประกอบการ MICE Communication ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่จอดรถและระบบจราจรให้กับผู้เข้าร่วมงานในการจัดงานเมกะอีเวนต์ด้านกีฬา พัฒนาแพลทฟอร์มที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่จะมาร่วมงานโดยการเตรียมรถรับส่งมายังบริเวณงาน มีบริการรองรับทั้งระบบจองและซื้อตั๋วผ่านไลน์ รวมถึงการบริหารคิวรถรับส่ง และบริการดูแลลูกค้าที่มาร่วมงาน

นอกจากนี้ยังมีรางวัลป๊อปปูล่า ซึ่งทีมที่ได้รางวัล ได้แก่ ทีม Bizcuit นำเสนอนวัตกรรม AI – powered Real-time Analytic Camera เพื่อเป็นตัวช่วยในการจัดงานอีเวนต์ มอบความสะดวกให้แก่ผู้ร่วมงานและผู้จัดงาน เป็นกล้อง AI ที่ช่วยแก้ปัญหาการจัดงาน ตั้งแต่จำนวนผู้เข้าชมงาน ไปจนถึงระดับการมีส่วนร่วมของลูกค้า คุณจะรู้ได้ทันทีว่าต้องแก้ปัญหาที่จุดใด  

 

โดยโครงการ Thailand’s MICE Startup ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตรหลายฝ่าย ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)(NSTDA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) (NIA)                             

图片库

分享文章